การลงทุนทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปคุ้นชินกันดีอยู่แล้ว ยิ่งการลงทุนที่ทำเอาหลายคนต้องคิดหลายตลบมากๆ คือเรื่องการลงทุนที่ไมได้ใกล้ตัวเองหรือไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนั้นมากเท่าไหร่ คงเคยได้ยินคำว่า การลงทุนระหว่างประเทศ กันมาบ้าง หากคิดแค่พื้นฐานง่ายๆ มันก็คือการลงทุนกับเมืองนอกนั่นแหละ แต่หากมองไปยังความหมายอันแท้จริงของคำๆ นี้แล้วมันรายละเอียดค่อนข้างลึกซึ้งและน่าสนใจไม่น้อย
รู้จักกับความหมายของการลงทุนระหว่างประเทศ
การลงทุนระหว่างประเทศ คือ เมื่อมีผู้ประกอบการจากประเทศใดประเทศหนึ่งจะด้วยองค์กรเหล่านั้นเป็นหน่วยงานของรัฐบาล หรือเอกชนก็ดีมีการเอาเงินทุน ทรัพย์สิน บางครั้งก็นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ ไปลงทุนให้กับอีกประเทศโดยผู้ถือหุ้นเองสามารถเข้าไปควบคุมเรื่องของการดำเนินกิจการต่างๆ ได้เนื่องจากว่าตนเองก็มีสัดส่วนในเรื่องการถือหุ้นอยู่เช่นกัน โดยสัดส่วนเรื่องการถือหุ้นจะส่งผลเรื่องการเข้าไปควบคุมกิจการของแต่ละประเทศเกิดความต่างกันไป ปกติหากเป็นการถือหุ้นสามัญหรือหุ้นซึ่งมีสิทธิ์เรื่องการออกเสียงจะถือแค่ราว 10 – 25% ก็สามารถไปดำเนินการบังคับควบคุมธุรกิจที่นำไปลงทุนระหว่างประเทศไว้ได้แล้ว โดยการลงทุนดังกล่าวยังสามารถแยกย่อยแบ่งออกเป็นการลงทุนแบบทางตรงกับการลงทุนแบบทางอ้อมได้อีกด้วย
การลงทุนแบบทางตรง
หากตีความหมายง่ายๆ ตามคำพูดนี้เลยมันคือการนำเอาเงิน ทรัพย์สิน นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ จากประเทศหนึ่งซึ่งถือเป็นประเทศของผู้ลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าของสิ่งนั้น เคลื่อนย้ายให้ไปลงทุนกับอีกประเทศที่พวกเขาต้องการลงทุน คนเป็นเจ้าของทุนมีอำนาจในการดูแลทำนองว่าเป็นของตนเองเต็มตัว หากเป็นการลงทุนดังกล่าวมักจะเรียกว่า บรรษัทข้ามชาติ บริษัทแม่จะอยู่ในประเทศของผู้ลงทุน มีสาขาย่อยตามประเทศอื่นๆ หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่าส่วนมากแล้วการลงทุนแบบทางตรงโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศตนเองมักเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, เยอรมัน, ฝรั่งเศส เป็นต้น โดยการลงทุนก็มีหลายประเภท เช่น เวชภัณฑ์, ยานยนต์, อาหาร, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์เกี่ยวกับการสื่อสาร, เคมีภัณฑ์ และอื่นๆ
การลงทุนแบบทางอ้อม
เราสามารถเรียกการลงทุนแบบนี้ได้ว่า การลงทุนกับทรัพย์สินทางการเงิน ส่วนมากมักเป็นเรื่องการซื้อขายตราสารหุ้น, ตราสารหนี้ จะเป็นในลักษณะพันธบัตร, ตั๋วเงิน, การกู้จากต่างประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วนมากผู้ลงทุนไม่ค่อยมีอำนาจในการตัดสินใจอะไรมากนักรวมถึงเรื่องบริหารจัดการ การลงทุนแบบนี้มักเป็นปัจเจกบุคคล, นักลงทุนสถาบันการเงิน, กองทุน เป็นต้น